มูลนิธิครูดีของแผ่นดิน

ทิศทางการสร้างคนดีให้แผ่นดิน ประจำปีพุทธศักราช 2563

โดย ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ

รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)

กราบสวัสดีท่านประธานมูลนิธิครูดีของแผ่นดิน ท่านวิทยากร และผู้มีเกียรติทุกท่านนะครับ จากที่ได้ฟังคุณครูทั้งสองท่านนำเสนอ จะเห็นได้ว่าทุกท่านมีอะไรดีๆ แตกต่างกันไป ถ้ามีโอกาสผมอยากจะเชิญไปเป็นวิทยากรให้ครู สช. เนื่องจากที่ผ่านมาในมุมมองของผมมองว่าการสร้างคนดีให้กับเยาวชน เราทำผิดวิธี เราไปมุ่งเน้นในเรื่องของท่องจำบทเรียน การทำแบบฝึกหัดที่ไม่ใช่ของจริง ในมุมมองของผม ผมคิดว่าเด็กต้องสร้างความดีด้วยการกระทำ
การท่องจำบทเรียนสำหรับผู้ใหญ่มีความจำเป็นที่ต้องทำให้งานสำเร็จลุล่วงในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าการท่องจำในระดับเด็กไม่ดี เพียงแต่ถ้าเราท่องจำอย่างเดียว เด็กจะไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผมเห็นคุณครูสองท่าน ครูกนกรัตน์และวิทยากรผู้ชายมีวิธีการสร้างเด็กดีที่แตกต่างกัน ผมว่าวิธีอย่างนี้แหละครับ เป็นวิธีที่ถูกต้อง
ในอีกมุมมองหนึ่งที่ สช.วางแนวทางสร้างความดีให้กับเด็กและเยาวชน ผมขออนุญาตเอ่ยถึงหลวงพ่อรูปหนึ่ง หลวงพ่อที่วัดแจ้งเก่า อําเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ถ้าใครอยู่ย่านนั้นหรือมีโอกาสแวะไปสนทนากับหลวงพ่อได้ สิ่งที่ผมกับหลวงพ่อคิดตรงกันในวันแรกที่ไปกราบท่าน คือ ตราบใดที่สังคมทั้งหมด มอบภาระการสร้างคนดีให้ครูเพียงลำพัง ครูจะตกเป็นจำเลยสังคมอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เพราะความจริงแล้วการสร้างคนดีต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนของสังคม
สิ่งสำคัญที่สุดที่ สช.มองอยู่ตอนนี้ คือ คุณครูกับผู้ปกครองต้องทำงานร่วมกันครับ หากให้คุณครูทำอยู่ฝ่ายเดียวจะเหนื่อยมาก สิ่งที่คุณครูทำสำเร็จในห้องเรียน เมื่อกลับไปถึงบ้านอาจจะยังไม่สำเร็จก็ได้ เมื่อกลับไปสู่ครอบครัวหรืออยู่ในชุมชน เด็กมีความเสถียรหรือความมั่นคงในการทำความดีจริงหรือเปล่า เมื่อใดที่ผู้ปกครองหรือพ่อแม่คิดและทำเหมือนกับคุณครู จูงมือไปด้วยกัน ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายนี้จะเป็นผู้สร้างเด็กให้เป็นคนดีได้อย่างแน่นอน สมัยก่อนผมเคยอยู่ฉะเชิงเทรา แปดริ้ว มีโครงการหนึ่งเป็นโครงการนำร่อง ไม่ทราบว่าตอนนี้ยังมีโครงการนี้อยู่หรือเปล่านะครับ เห็นเพื่อนๆ ที่ทำงานเก่าภูมิใจ มีคุณครูวัดหนังแดงท่านหนึ่งเป็นครูดีด้วย เป็นเพื่อนร่วมงานเก่าของผม ได้ช่วยกันหาวิธีการ ปรึกษาหารือกัน เริ่มจากเอาผู้ปกครองเด็กที่เกเรมาประชุมกับคุณครูก่อน ในฝ่ายคุณครูที่ดูแลเท่านั้นยังไม่พอ ในมุมมองของผมการทำความดี ต้องดีทั้งกายและใจ ถ้าเรามีคนดีเยอะๆ แต่สุขภาพอ่อนแอย่ำแย่ ก็ยากจะมีกำลังใจทำความดีได้ เราควรเอาหมอมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยหรือปัจจุบันเรียกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เอาสามฝ่าย คือ พ่อแม่ ครูอาจารย์ และหมอมาคุยกันว่าเราจะสร้างเด็กคนนี้ให้เป็นคนดีทั้งกายและใจได้อย่างไร
กระบวนการง่ายๆ คือ อะไรที่พ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกตนเองมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พ่อแม่ต้องเอามาบอกครูด้วยว่าอยู่ที่บ้านเด็กมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง 1 2 3 4 5 ในขณะเดียวกันคุณครูที่อยู่โรงเรียน เมื่อเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กก็ควรแจ้งให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองทราบด้วย เพื่อจะหากิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นสิ่งผิดปกติควรแจ้งไปยังคุณพ่อคุณแม่ว่าเรื่องนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างนี้นะ ซึ่งทางโรงเรียนกำลังแก้ไขอยู่ แล้วเด็กอยู่ที่บ้านเป็นอย่างไร ปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน จากนั้นก็ส่งต่อให้คุณหมอมาช่วยดูสุขภาพหน่อย เพราะปัญหาทางใจบางอย่างอาจจะมาจากสุขภาพกาย ให้ความเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดนั้นคือทางเลือกหนึ่ง
ถ้าเป็นแนวคิดปรัชญาตะวันตก คนเราจะทำความดีด้วยสาเหตุ 3 ประการ ข้อแรก คนทำความดีเพราะความกลัว กลัวเสียสิทธิ กลัวเสียประโยชน์ กลัวถูกลงโทษ กลัวถูกกระทำในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ข้อสอง คนทำความดีหรืออยากเป็นคนดี เพราะอยากมีเกียรติยศชื่อเสียง และข้อสุดท้าย คนทำความดีเพราะอยากเป็นคนดีจริงๆ เป็นความปรารถนาสูงสุดที่อยากทำความดี
ผมไม่ได้บอกว่าจะพูดในนามของใคร ผมเชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ว่าท่านใดคงไม่ลืมเรื่องที่จะสร้างคนให้มีความสามารถและที่คู่กันเสมอก็คือความดี เพราะฉะนั้นในทิศทางที่จะสร้างคนให้เป็นคนดีท่านทั้งหลายไม่ต้องกังวลใจเลย เป็นเรื่องเป็นพันธะเป็นมิชชั่น Mission ที่สำคัญ รายละเอียดของแต่ละหน่วยแยกย่อยกันไป จะมีโครงการย่อๆที่จะแตกต่างกันมาก อันนั้นมีแน่นอน อย่างของ สช. เรื่องของการสร้างเด็กให้เป็นคนดีก็มีกิจกรรมที่ต้องทำกันอยู่หลายอย่างทีเดียว ทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกตัวอย่างเช่น มีกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้การกระทำจากง่ายไปหายาก จะทำหลายอย่างพร้อมกันไม่ได้ สำหรับเด็กยิ่งต้องค่อยๆ ทำ ทำในสิ่งที่จับต้องได้ก่อน เช่น เรื่องของความตรงต่อเวลา เรื่องไม่ลักขโมย อย่างที่ครูเขาเอามาทำ จากนั้นพอสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ค่อยไปทำเรื่องที่มันเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อไม่ลักขโมยน้อย ไม่เอาเปรียบเพื่อน คุณธรรมขั้นต่อไปคือการเอื้อเฟื้อต่อเพื่อน ต้องเสียสละเป็น การมีวินัยต่อตัวเอง

Scroll to Top